วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

พระพุทธศาสนาในสมัยทวารวดี และศรีวิชัย

พระพุทธศาสนาในสมัยทวารวดี และศรีวิชัย
การอพยพของบรรพบุรุษไทยสมัยโบราณ

ในสมัยโบราณ การตั้งถิ่นฐานและการอพยพ ไปตามท้องที่ต่าง ๆ ค่อนข้างอิสระ ไม่ต้องทำหนังสือเดินทางขอวีซ่าเหมือนในสมัยปัจจุบัน ยังไม่มีพรมแดนมาแบ่งสรรกันแน่นอน ชนชาติต่าง ๆ ที่เดินทางมา ต่างก็มีสิทธิจับจองที่ดินสร้างบ้างแปลงเมืองขึ้น สุดแต่ว่าใครมีอำนาจเหนือกว่าก็ชนะ เพราะฉะนั้น การอพยพของคนในสมัยโบราณจะมีอยู่ ๒ ลักษณะ พวกหนึ่งจะพยายามอพยพไปทางตะวันขึ้น คือถือเอาดวงอาทิตย์เป็นเป้าหมาย อีกพวกหนึ่งจะพยายามอพยพไปตามลำแม่น้ำ และ ลำน้ำที่ชนชาติไทยคุ้นเคยในภาคใต้ของจีนก็คือแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน การอพยพจึงต้องพยายาม เดินตามลำน้ำทั้ง ๒ สายนี้ การอพยพก็มาเป็นคราว ๆ ครั้งละหลายร้อยครัวเรือน แต่ก็มิ ได้หมายความว่าชนชาติไทยได้อพยพลงมาสู่สุวรรณภูมิทั้งหมด คนที่ไม่ได้อพยพมีมาก กว่าพวกที่อพยพ พวกที่ไม่ได้อพยพมาก็ได้ตั้งอาณาจักรสร้างบ้านแปลงเมือง โดยมีเมืองหนองแสเป็นราชธานีอยู่ในมณฑลยูนาน เนื่องด้วยชนชาติไทยนับถือพระพุทธศาสนาจึงรับเอาวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามาด้วย บางครั้งก็เรียกประเทศของตนว่า คันธารรัฐ เมืองหนองแสเรียกว่า ตักกสิลานคร ยกย่องพระมหากษัตริย์ไทยด้วยภาษาอินเดียว่ามหาราชะ แต่จีนเรียกว่า "น่านเจ้า" หมายถึงผู้เป็นใหญ่ทางทิศใต้ โดยได้ทำสงครามกับจีนเรื่อยมา ต่อมาในราวศตวรรษที่ ๑๘ กองทัพกุบไลข่านได้ยกกองทัพมาตีประเทศจีน ได้เข้าตีอาณาจักรน่านเจ้าก่อน แล้วจึงย้อนเข้าไปตีราชสำนักซ้อง น่านเจ้าจึงเสียแก่พวกมองโกล ภายหลังถูกยุบเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งขึ้นตรงต่อจีน อาณาจักรไทยในยูนานจึงอวสานลง บรรพบุรุษของชนชาติไทย
บรรพบุรุษของชนชาติไทยนั้น เมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคเหนือของลุ่มแม่ย้ำแยงซีเกียง ต่อมา ได้อพยพร่นลงมาทางใต้เพราะถูกชนชาติจีนรุกราน จนกระทั่งในราวพุทธศตวรรษที่ ๖ ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าฮั่นเม้งตี่หรือฮั่นเม้งเต้ราชวงศ์ฮั่น จีนแผ่อิทธิพลเข้ามาถึงอาณาจักรอ้ายลาวของไทย พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยในสมัยอาณาจักรอ้ายลาวคือ "ขุนหลวงเม้า" มีพลเมืองอยู่ประมาณ ๕๕๓,๗๖๑ คน อาณาเขตของไทยทางทิศตะวันตกติดกับอินเดีย มีสมณทูตจากอินเดียเข้ามาเรื่องราวในตำนานสมัยนี้จึงเกี่ยวพันกับพระเจ้าอโศกว่าพระองค์ได้ทรงส่งสมณทูต เข้ามา สมณทูตได้ผ่านแว่นแคว้นขึ้นไปถึงเมืองจีน เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ชนชาติไทยนั้นได้เริ่มนับถือพระพุทธศาสนาในพุทธศตวรรษที่ ๖ ในอาณาจักรอ้ายลาว เรียกได้ว่านับถือพระพุทธศาสนาก่อนที่จะมาตั้งถิ่นฐานในแดนสุวรรณภูมิเสียอีก แต่การนับถือนั้นน่าจะนับถือในหมู่ชนชั้นสูง ราษฎรทั่วไปคงนับถือผีสางเจ้าป่าเจ้าเขา ต่อมา ในราวศตวรรษที่ ๘ เสนาธิการและแม่ทัพของพระเจ้าเล่าปี่ คือขงเบ้งได้ยกกองทัพข้ามแม่น้ำทรายทองตีอาณาจักรอ้ายลาวของไทยแตก รุกลงมาถึงภาคเหนือของพม่า ชนชาติไทยจึง เริ่มอพยพเข้ามาสู่ดินแดนที่เรียกกันว่าสุวรรณภูม

พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทย
พระพุทธศาสนาแพร่เข้าสู่ประเทศไทย
ในพุทธศตวรรษที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์เมารยะ ซึ่งตั้งราชธานีอยู่ที่กรุงปาฎลีบุตร แคว้นมคธในอินเดีย พระองค์เลื่อมใสพระพุทธศาสนามาก และ โดยการแนะนำของพระมหาเถราจารย์รูปหนึ่ง คือพระโมคคัลลีบุตรติสสะ พระมหาราช จึงโปรดให้สั่งธรรมทูตอัญเชิญพระพุทธศาสนา จารึกแพร่หลายทั่วทิศานุทิศทั้งในประเทศอินเดียและประเทศอื่น ๆ ภายนอก ปรากฏว่าคณะธรรมทูตชุดหนึ่ง ซึ่งมีพระโสณะและพระอุตตระเป็นหัวหน้าได้มาสู่สุวรรณภูมิ แล้วตั้งหลักพระพุทธศาสนาขึ้นที่นั่น ก็สุวรรณภูมิในที่นี้ ได้แก่ดินแดนตอนใดตอนหนึ่งในแหลมอินโดจีนนี่เอง ชาวอินเดียสมัยก่อนพุทธกาล เคยไปมาค้าขายติดต่อกับสุวรรณภูมิอยู่เสมอ จึงเป็นข้อสันนิษฐานว่า คงจะมีชาวอินเดียเข้ามาตั้งรกรากแพร่อารยธรรมแก่ชาวพื้นเมืองในดิน แดนแถบเอเชียอาคเนย์นี้แต่โบราณนานไกลแล้ว และโดยเฉพาะเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญขึ้นในอินเดีย พระพุทธศาสนาไม่ถือลัทธิรังเกียจการไปตั้งแหล่งต่างถิ่น เหมือนพวกที่ถือศาสนาพราหมณ์บางเหล่าจึงปรากฏว่าได้มีพวกอินเดียที่ถือพระพุทธศาสนาเข้า มาอยู่ในแหลมอินโดจีนมากขึ้น ในจำเนียรการต่อมา เลยเป็นสาเหตุให้พวกถือลัทธิพราหมณ์พลอยหายรังเกียจอพยพมาแสวงหาโชติมากขึ้นกว่าเดิม และพวกนี้ไม่ได้สอนลัทธิอย่างเดียวเท่านั้นยังไม่ได้มาสร้างบ้านเมืองตั้งเป็นอาณาจักรขึ้นหลายแห่ง ปกครองพวกมนุษย์เจ้าถิ่นอีกด้วย ส่วนสุวรรณภูมิอันเป็นแหล่งแรกที่พระพุทธศาสนามาตั้งมั่นนั้น เข้าใจว่าน่าจะได้แก่บริเวณตั้งแต่ตอนใต้ของพม่าเดี๋ยวนี้( ซึ่งสมัยต่อมาเป็นอาณา จักรมอญ ) กินตลอดลงมาถึงภาคกลางของประเทศไทย มีศูนย์กลางสำคัญอยู่ที่จังหวัดนครปฐมมีพวกมอญ ละว้าเป็นคนพื้นเมือง เนื่องด้วยที่บริเวณจังหวัดดังกล่าว ปรากฏซากโบราณสถานมากมายล้วนแต่ใหญ่โต สร้างตามคตินิยมเก่า ถึงครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชก็มี เช่น พระสถูปปฐมเจดีย์องค์เดิมซึ่งอยู่ภายในพระสถูปใหญ่ที่เห็นอยู่บัดนี้ ตามรูปเดิมก็สร้างเป็นรูปทรงโอคว่ำ อย่างพระสถูปสัญจิในอินเดีย และภาพอุเทสิกเจดีย์อื่นๆ ที่ทำเป็นรูปพระธรรมจักรมีกวางหมอบ รูปพระแท่นเปล่า ๆ ฯลฯ ซึ่งสร้างกันในสมัยที่ชาวอินเดียยังไม่นิยมสร้างพระพุทธรูป คตินิยมที่สร้างอุเทสิกเจดีย์ดังกล่าวก็มีปรากฏที่โบราณสถานที่นครปฐม นอกจากนี้ในระยะสมัยต่อมาแบบพุทธศิลปะของอินเดียยุคสำคัญ ๆ เช่นพุทธศิลปะสมัยอมราวดี และสมัยคุปตะก็มีแพร่หลายเข้ามาเจริญที่ศูนย์กลางแห่งนี้อีกเหมือนกัน จึงเป็นอันยุติได้ว่าจำเดิมแต่พระพุทธศาสนามาตั้งมั่นลง ณ ภาคกลางแห่งประเทศไทย ก็ได้เจริญงอกงามพัฒนาตลอดมาไม่ขาด อนึ่ง พระพุทธ ศาสนาซึ่งพระโสณะและพระอุตตระนำเข้ามานั้น เป็นพระพุทธศาสนาสาวกยานนิกายเถรวาท ซึ่งเป็นนิกายดั้งเดิม เคารพมติของพระอรหันต์ครั้งปฐมสังคายนา โดยการรักษาพระธรรมวินัยของสมเด็จพระพุทธองค์ ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดี



สมัยทวาราวดี
ในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ขณะที่อิทธิพลของฟูนันกระทบกระเทือน ก็ปรากฏว่าพวกมอญในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถือโอกาสประกาศอิสรภาพตั้งเป็นอาณาจักรทวารวดีขึ้น อาศัยเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองมาเก่าก่อน แต่ครั้งยังเป็นแว่นแคว้นสุวรรณภูมิ อาณาจักรทวารวดีจึงเจริญอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านศิลปะและการพระศาสนา ซึ่งปรากฏว่า อาณาจักรนี้ได้รักษาจารีตของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งรับมาครั้งพระเจ้าอโศก มหาราชไว้อย่างเคร่งครัด อาณาจักรทวาราวดีมีความสัมพันธ์กับชาวพุทธอินเดียในลุ่มแม่น้ำคงคามาก ฉะนั้นพุทธศิลปะของทวาราวดีมีเลียนแบบราชวงศ์คุปตะ ศูนย์กลางของทวาราวดีก็คงอยู่ที่นครปฐมนั่นเอง ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ปรากฏว่าอานุภาพของทวาราวดีได้ขยับขยาย เหนือขึ้นไปจนถึงลพบุรี และจากลพบุรีได้แผ่ขึ้นไปอีกจนถึง ภาคเหนือของประเทศไทย ดังปรากฏในตำนานว่าพระนางจามเทวีซึ่งมีเชื้อสายมอญจากลพบุรีได้ขึ้นไปครองนครหริภุญชัยหรือลำพูน และพระนางได้นิมนต์พระสงฆ์จำนวนถึง ๕๐๐ รูป ซึ่งทางพระไตรปิฎกขึ้นไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่เมืองลำพูนด้วย เป็นเหตุหนึ่งที่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท จากทวาราวดีได้ไปตั้งมั่นที่ทางภาคเหนือ เป็นการย้ำสัทธาปสาทะของประชาชนในภาคนี้ ให้กระชับแนบกับพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแน่นหนาขึ้น พวกมอญได้ปกครองหัวเมืองเหนือหลายร้อยปี จารึกภาษามอญเก่าเราอาจพบได้ ตั้งแต่นครปฐมลพบุรี ตลอดจนถึงลำพูน
ตกราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ อาณาจักรเจนละได้เปลี่ยนเป็นประเทศเขมรโบราณ อิทธิพลของเขมรโบราณ ได้แผ่ครอบงำแทนที่อาณาจักรทวาราวดี เขมรได้ตั้งหัวเมืองทำนองเป็นเมืองประเทศราช ขึ้นหลายเมือง เช่นในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เขมรได้ยกเมืองลพบุรีขึ้นเป็นเมืองลูกหลวง ในลุ่มแม่น้ำป่าสักท้องที่จังหวัดเพชรบูรณ์ บัดนี้ ก็มีเมืองศรีเทพเป็นเมืองสำคัญ นอกจากนี้อิทธิพลของเขมร ยังกินขึ้นไปถึงภาคอีสานด้วย มีเมืองพิมาย,เมืองสกลนครเป็นหัวเมืองสำคัญ แต่อย่างไรก็ดี อำนาจของเขมร ก็ยังไม่สามารถรุกล้ำเข้าไปล้างอำนาจมอญในภาคเหนือและภาคพายัพโดยสิ้นเชิงได้
ผืนแผ่นดินจุดแรกของอาณาจักรสุวรรณภูมิ หรือที่เรียกกันว่า “แหลมทอง” ซึ่งท่าน พระโสณะกับพระอุตตระ ได้เดินทางจากชมพูทวีปเข้ามาประดิษฐานนั้น จดหมายเหตุของหลวงจีนเหี้ยนจัง เรียกว่า “ทวาราวดี” สันนิษฐานว่าได้แก่ที่จังหวัดนครปฐม เพราะมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ ศิลารูปพระธรรมจักร เป็นต้น ปรากฏว่าเป็นหลักฐานประจักษ์พยานอยู่
พระพุทธศาสนาที่เข้ามาในครั้งนี้ เป็นแบบเถรวาทดั้งเดิม พุทธศาสนิกชนได้มีความศรัทธาเลื่อมใสบวชเป็นพระภิกษุจำนวนมากและได้สร้างสถูปเจดีย์ไว้สักการะบูชา เรียกว่า สถูปรูปฟองน้ำ เหมือนสถูปสาญจีในอินเดีย ที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างขึ้น ศิลปะในยุคนี้เรียกว่า ศิลปะแบบทวาราวดี


สมัยอาณาจักรอ้ายลาว
พระพุทธศาสนาในยุคนี้เป็นแบบมหายาน ในสมัยที่ขุนนางเม้ากษัตริย์ไทย ก่อนที่จะอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยปัจจุบัน ครองราชย์อยู่ในอาณาจักรอ้ายลาวได้รับเอา พระพุทธศาสนามหายานผ่านมาทางประเทศจีน โดยการนำของพระสมณทูตชาวอินเดียมาเผยแผ่ ในคราวที่พระเจ้ากนิษกะมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๔ ของฝ่ายมหายาน ณ เมืองชลันธร พระสมณทูตได้เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเอเซียกลาง พระเจ้ามิ่งตี่ กษัตริย์จีนทรงรับพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในจีน และได้ส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอ้ายลาว คณะทูตได้นำเอาพระพุทธศาสนามาด้วย ทำให้หัวเมืองไทยทั้ง ๗๗ มีราษฎร ๕๑,๘๙๐ ครอบครัว หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานเป็นครั้งแรก

อาณาจักรเจนละ
(ครั้งหลังของ ค.ศต. ๖- ค.ศ. ๘๐๒ พ.ศต. ๑๑- พ.ศ. ๑๓๔๕)
อาณาจักรเจนละ ตั้งอยู่ถัดอาณาจักรฟูนันขึ้นไปทางเหนือและอยู่ทางทิศตะวัน ตกเฉียงใต้ของอาณาจักรจัมปา ตรงกับภาคใต้ของลาวและภาคเหนือของกัมพูชาในปัจจุบัน มีศิลาจารึกบอกความไว้ว่า วงศ์กษัตริย์ของเจนละสืบเชื้อสายมาจากฤาษีกัมพูสวยัมภูวะ สมสู่กับเทพธิดาเมรา จึงได้ชื่อว่า ‘กัมพูชา’ ( กัมพู + ช = ผู้เกิดจากกัมพู) และจึงถือว่ายุคของกัมพูชาหรือเขมรเริ่มต้นแท้จริงในสมัยของเจนละ เจนละเป็นเมืองขึ้นของฟูนั่นมาก่อนจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ จึงมีกำลังเข้มแข็งขึ้น เริ่มตั้งตัวเป็นอิสระด้วยการเลิกถวายเครื่องราชบรรณาการแก่ กษัตริย์ฟูนันและในที่สุดได้รบชนะพวก ฟูนันที่ยกทัพมาปราบ ณ นครจัมปาศักดิ์ จึงถือว่าเป็นการเริ่มต้นยุคอาณาจักรเจนละ
พระเจ้าภววรมันขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์ในราว พ.ศ. ๑๐๙๓ กษัตริย์เจนละในระยะต้นนี้คงจะนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะเป็นหลัก เพราะปรากฏว่าพระเจ้าภววรมันได้ทรงสร้างเทวาลัยอุทิศพระศวภัทเรศวร และประดิษฐานศิวลึงค์องค์หนึ่งในตอนปลายรัชกาล และกษัตริย์พระองค์ที่ ๒ (พระเจ้ามเหนทรวรมัน นามเดิมว่าเจ้าชายจิตรเสน) เมื่อพิชิตศึกฟูนันสำเร็จอีก ก็ได้ทรงประดิษฐานศิวลึงค์ถวายแด่พระอิศวรเป็นการฉลองชัยชนะ กษัตริย์พระองค์ที่ ๓ ของเจนละพระนามว่า อีศานวรมันที่ ๑ ทรงมีอำนาจเข้มแข็งมาก ได้ทรงปราบอาณาจักรฟูนันรวมเข้ากับดินแดนในอาณาจักรเจนละโดยสิ้นเชิง ใน พ.ศ. ๑๑๗๐ และขยายอาณาเขตออกไปแทบทุกทิศ โดยเฉาพะทางด้านตะวันตกแผ่มาถึงจังหวัดจันทบุรีปัจจุบัน บางตำรากล่าวว่า ศาสนาฮินดู ลัทธิหริหระเกิดขึ้นในรัชกาลนี้ และได้มาการเบียดเบียนพระพุทธศาสนาอย่างมากมายจนแทบจะสูญสิ้น
ต่อมาในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ มีกษัตริย์ผู้เข้มแข็งอีกพระองค์หนึ่งพระนามว่า ชัยวรมันที่ ๑ ( ครองราชย์ประมาณ พ.ศ. ๑๑๙๓ – ๑๒๕๖ ) ทรงขยายอาณาเขตไปจนจดอาณาจักรน่านเจ้า ในรัชกาลนี้มีหลักฐานแสดงว่าพระพุทธศาสนายังเจริญ รุ่งเรืองอยู่ ( หรืออาจกลับเจริญขึ้นมาอีก )คือมีศิลาจารึกที่วัดไพรเวียรใกล้เมืองวยาธปุระ เมื่อ พ.ศ. ๑๒๐๗ กล่าวถึงกษัตริย์สององค์พี่น้องนามว่า รัตนภานุ และรุตนสิงหะ ได้ทรงผนวช พระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ ได้ทรงมีพระบัญชาให้สร้างวัดถวายและให้รักษาวัดนั่นให้ยั่งยืน เรื่องนี้ชาวบ้านยังเล่าสืบๆ กันมา และถือเป็นประเพณีที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญชาให้รักษาวัดนั้น
อนึ่ง หลวงจีนอี้จิง ซึ่งได้จารึกไปอินเดียและเดินทางผ่านทะเลใต้ ( ออกจากจารึกจนกลับถึงจีน พ.ศ. ๑๒๑๔ – ๑๒๓๘ ) ได้เขียนบันทึกไว้ว่า ในประเทศฟูนัน ( ตอนนี้เท่ากับพูดว่าเจนละนั่นเอง ) พุทธศาสนารุ่งเรืองมาก มีวัดทั่วไปทุกแห่ง มีสถาน ที่ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์อยู่ใกล้กันกับวักพระพุทธศาสนาทั้งสองศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ประชาชนทั่วไปนิยมบวชในพระพุทธศาสนา แม้พวกเจ้านายก็บวชเช่นเดียวกัน
ต่อมาหลังรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันไม่นาน อาณาจักรเจนละก็แตกแยกออกเป็น ๒ ส่วน กลายเป็นเจนละบกหรือเจนละเหนือฝ่ายหนึ่ง กับเจนละน้ำหรือเจนละใต้อีกฝ่ายหนึ่ง ในตอนปลายยุค เจนละน้ำจะตกอยู่ใต้อิทธิพลของชวา หลังจากแยกกันออกมา ประมาณ ๑ ศตวรรษ ยุคเจนละก็สิ้นสุดลงด้วยสาเหตุขัดแย้งกับอาณาจักรชวา กล่าวคือในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔ กษัตริย์ราชวงค์ไศเลนทรแห่งชวา ได้ยกทัพเรือมาตีเจนละ จับพระเจ้ามหิปติวรมัน แห่งเจนละน้ำตัดพระเศียร ส่วนพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ซึ่งขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ก็ได้ย้ายเมืองหลวงไปตั้งอาณาจักรใหม่ที่อื่น ยุคเจนละจึงสิ้นสุดลง

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ตามหลักฐานในทางโบราณคดี มีรูปพระโพธิสัตว์ต่างๆ เป็นต้นแสดงว่าพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานคงจะเผยแผ่เข้ามาในแถบอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะใกล้ พ.ศต. ๑๔ นี้เอง โดยอิทธิพลจากอาณาจักรศรีวิชัย และเมื่อเข้ามาแล้วก็ได้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็วเพราะมีลักษณะคล้ายกับศาสนาพราหมณ์ และเพราะได้ รับการสนับสนุนส่งเสริมจาพระมหากษัตริย์ ดังจะเห็นได้ในยุคต่อไป นอกจากนั้นแม้พุทธศาสนาลัทธิตันตระก็ได้ติดตามเข้ามาอีกในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน และได้เป็นที่ มาแหล่งหนึ่งแห่งประเพณีของประเทศ แต่ไม่สู้มีอิทธิพลกว้างขวางมากนัก


สมัยศรีวิชัย พ.ศ. ๑๓๐๐
พระพุทธศาสนาสมัยศรีวิชัย
ในสมัยที่อาณาจักรทวารวดี กำลังรุ่งเรืองอยู่นั้น ปรากฏว่าทางภาคใต้ของประเทศไทย ได้มีแว่นแคว้นใหญ่น้อยหลายแคว้น ดังปรากฏในจดหมายเหตุจีนเรียกชื่อประเทศเชิ๊ยโท้ ( แปลว่า ดินแดง ) ได้แก่แถวรัฐไทรบุรีในมลายูบัดนี้ มีพลเมือง นับถือพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ประเทศผานผานได้แก่บริเวณท้องที่จังหวัด สุราษฎร์ธานีบัดนี้ มีพลเมืองนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยาน และที่เมืองเวียงสระเราเคยขุดพบพระพุทธรูปสมัยคุปตะดินแดนเหล่านี้ เคยมีสัมพันธ์ติดต่อกับอาณาจักรทวาราวดี จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ อาณาจักรศรีวิชัย ได้เกิดขึ้นที่เกาะสุมาตรา ภาย หลังได้แผ่ขยายอำนาจรุกล้ำขึ้นมาทางแหลมมลายู และปราบแว่นแคว้นต่างๆ ในแหลมมลายู มีอาณาเขตทางเหนือติดต่อกับอาณาจักรทวาราวดีในระยะเวลาดังกล่าว แคว้นเหล่านี้พระพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยานยังรุ่งเรืองดี นักธรรมจารึกอี้จิงบันทึกว่าอาณาจักรนี้พระราชาตลอดจนประชาราษฎร์ศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนามาก มีพระภิกษุสงฆ์ในนครหลวงกว่าพันรูป และมีคณาจารย์สำคัญรูปหนึ่ง ซึ่งศากยเกียรติ
อาณาจักรศรีวิชัยในเกาะสุมาตราเจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ได้แผ่อำนาจเข้ามาถึงจัดหวัดสุราษฎร์ธานี กษัตริย์ศรีวิชัยทรงนับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน พระพุทธศาสนาแบบมหายานจึงได้แผ่เข้ามาสู่ภาคใต้ของไทย ดังหลักฐานที่ปรากฏคือเจดีย์พระบรมธาตุไชยา พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และรูปหล่อพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๔. สมัยลพบุรี พ.ศ. ๑๕๕๐
ในสมัยกษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมันเรืองอำนาจนั้น ได้แผ่อาณาเขตขยายออกมาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ในราว พ.ศ. ๑๕๔๐ และได้ตั้งราชธานีเป็นที่อำนวยการปกครองเมืองต่าง ๆ ในดินแดนดังกล่าวขึ้นหลายแห่ง เช่น
เมืองลพบุรี ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวาราวดี ส่วนข้างใต้ เมืองสุโทัย ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวาราวดีส่วนข้างเหนือ
เมืองศรีเทพ ปกครองหัวเมืองที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำป่าสัก
เมืองพิมาย ปกครองเมืองที่อยู่ในที่ราบสูงต้อนข้างเหนือ
เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นนี้เมืองลพบุรีหรือละโว้ ถือว่าเป็นเมืองสำคัญที่สุด กษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมัน ทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งมีสายสัมพันธ์เชื่อมต่อมาจากอาณาจักรศรีวิชัย แต่ฝ่ายมหายานในสมัยนี้ผสมกับศาสนาพราหมณ์มาก ประชาชนในอาณาเขตต่าง ๆ ดังกล่าว จึงได้รับพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาทที่สืบมาแต่เดิมด้วย กับแบบมหายานและศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาใหม่ด้วย ทำให้มีผู้นับถือพระพุทธศาสนา ๒ แบบ และมีพระสงฆ์ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน และภาษาสันสกฤตอันเป็นภาษาหลักของศาสนาพราหมณ์ และพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในด้านภาษาและวรรณคดีไทยตั้งแต่บัดนั้นมา
สำหรับ ศาสนสถานที่เป็นที่ประจักษ์พยาน ให้ได้ศึกษาถึงความเป็นมาแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทยครั้งนั้น คือ พระปรางค์สามยอดที่จังหวัดลพบุรี ปราสาทหินพิมาย ที่จังหวัดนครราชสีมา และปราสาทหินเขาพนมรุ้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น ส่วนพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยนั้นก็เป็นแบบขอม ถือเป็นศิลปะอยู่ในกลุ่ม ศิลปสมัยลพบุรี

สมัยเถรวาทแบบพุกาม
ในสมัยที่พระเจ้าอนุรุทธมหาราช กษัตริย์พุกามเรืองอำนาจ ทรงรวบรวมเอาพม่ากับรามัญเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน แล้วแผ่อาณาเขตเข้ามาถึงอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง จนถึงลพบุรี และทวาราวดี พระเจ้าอนุรุทธทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทรงส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ส่วนชนชาติไทย หลังจากอาณาจักรอ้ายลาวสลายตัว ก็ได้มาตั้งอาณาจักรน่านเจ้า ถึงประมาณ พ.ศ. ๑๒๙๙ ขุนท้าวกวาโอรสขุนบรมแห่งอาณาจักรน่านเจ้า ได้สถาปนาอาณาจักรโยนกเชียงแสนในสุวรรณภูมิ หลังจากนั้นคนไทยก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน เมื่อกษัตริย์พุกาม (กัมพูชา) เรืองอำนาจ คนไทยที่อยู่ในเขตอำนาจของขอม ก็ได้รับทั้งศาสนาและวัฒนธรรมของเขมรไว้ด้วย
ส่วนทางล้านนาก็ได้รับอิทธิพลจากขอมเช่นเดียวกัน คือเมื่ออาณาจักรพุกามของกษัตริย์พม่าเข้ามาครอบครองดินแดนแถบนี้ ดังเห็นว่ามีปูชนียสถานแบบพม่าหลายแห่ง และเจดีย์ที่มีฉัตรอยู่บนยอด และฉัตรที่ ๔ มุมของเจดีย์ ก็ได้รับอิทธิพลมาจากพุกามแบบพม่า

พระพุทธศาสนาในลาว
ชนชาติลาว มีความเป็นมาแต่เดิมเกี่ยวกับชาติวงศ์และการอพยพถิ่นฐานเป็นต้น จนถึงตั้งหลักแหล่งในดินแดนปัจจุบันเนื่องเป็นอันเดียวกันกับชนชาติไทย มีเรื่อง ราวที่ควรทราบโดยย่อว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๑๙๔ ชนชาติใหญ่พวกหนึ่ง ซึ่งเรียกตัวเองว่า ไท พวกพม่าเรียกว่า ฉาน พวกจีนเรียกว่า อ้ายลาว หรืองายลาว ได้อพยพมาจากอาณาจักรอ้ายลาวลงมาทางไต้ ตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้นว่า น่านเจ้า ต่อมาเจ้าไทยน่านเจ้าชื่อ ขุนบรม ( ขุนลุง หรือขุนหลวง ก็ว่า ) ได้ยกลงมาครอบครองแผ่นดินใต้ลงมาอีก และขยายอาณาเขตกว้างขวางออกไป ขุนบรมมีโอรส ๗ องค์ และให้ได้โอรสเหล่านั้นไปสร้างบ้านแปลงเมืองต่าง ๆ มีเมืองโยนก เมืองละโว้ เมืองพวน เป็นต้น โอรสองค์ที่หนึ่งชื่อ ขุนลอ ไปรบได้เมืองชวา ( ได้แก่ เมืองเช่า ต่อมารียกเชียงทองหรือล้านช้าง และในที่สุดเป็นเมืองหลวงพระบาง ) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๒๙๐ เจ้าเมืองชวาได้สืบเชื้อสายสืบต่อกันมาโดยลำดับ เมื่ออาณาจักรเขมรเรืองอำนาจขึ้น เมืองชวาก็ตกอยู่ในอำนาจเขมรด้วยเช่นเดียวกับชนชาติไทยพวกอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ครั้นถึง พ.ศ. ๑๗๙๖ อาณาจักรน่านเจ้าเสียแก่กุบไลข่าน คนไทยก็แผ่ซ่านกระจายลงมาทางใต้เพิ่มจำนวนมากขึ้น
ก. ยุคก่อตั้งและเจริญมั่นคง
เจ้าเมืองชวาองค์ที่ ๒๒ ( บางแห่งว่าที่ ๓๕ ) นามว่า พญาสุวรรณคำผง ขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๕๙ ทรงมีโอรสพรนามว่า เจ้าผีฟ้า และเจ้าผีฟ้ามีโอรส ๖ องค์ องค์ที่หนึ่งชื่อ เจ้าฟ้างุ้ม ครั้งนั้นได้มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้เจ้าฟ้างุ้มลัดพรากจากชาติภูมิไปพำนักอยู่ในอาณาจักรเขมรตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เวลานั้นพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้เจริญรุ่งเอง ขึ้นเป็นศาสนาหลักของอาณาจักรเขมรแล้ว เจ้าฟ้างุ้มทรงอาศัยอยู่กับพระภิกษุชื่อพระมหาปาสมันตเถระ เจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่ง เมื่อเจริญวัยขึ้น พระเถระได้นำไปฝากเป็นมหาดเล็กในราชสำนักของกษัตริย์เขมร(ปราชญ์สันนิษฐานว่าได้แก่พระเจ้าชัยวรนปรเมศวร)เจ้าฟ้างุ้มรับราชการเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดิน ถึงกับทรงยกพระราชธิดานามว่า พระนางแก้วเกงยา หรือแก้วยอดฟ้า ( เรียกว่า เจ้าหญิงคำหยาดบ้าง เรียกอย่างอื่นบ้างก็มี ) ให้เป็นชายา
สมัยนั้น อาณาจักรเขมรกำลังเสื่อมอำนาจลง และใน พ.ศ. ๑๘๙๓ พระเจ้ารามา ธิบดีที่ ๑ แห่งราชวงศ์อู่ทอง ได้ตั้งอาณาจักรไทยขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา แล้วเริ่มแผ่ขยายอำนาจออกไป กษัตริย์เขมรทรงเกรงการรุกรานของไทยอยุธยา จึงโปรดให้เจาฟ้างุ้มไปครองเมืองล้านช้าง เพื่อเป็นกำลังป้องกันไทยอยุธยาต่อไป เจ้าฟ้างุ้มขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๑๘๙๖ ( หลังจากอาณาจักรไทยศรีอยุธยาตั้งขึ้นได้ ๓ ปี ) ทรงเป็นวีรกษัตริย์สามารถรวบรวมหัวเมืองต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนเข้าเป็นอันเดียว มีอาณาเขตทางเหนือจดสิบสองปันนา ทางใต้จดอาณาเขตเขมร ตะวันตกจดอาณาเขตเชียวใหม่ สุโขทัย และอยุธยา ตะวันออกจดอันนัม และจัมปา เรียกได้ว่าทรงเป็นปฐมกษัตริย์ในประวัติศาสตร์แห่งอาณาจักรล้านช้าง ( ก่อนหน้านี้มีแต่ตำนาน ) และต่อมาตัวเมืองล้านช้างหรือเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้าง ก็มีชื่อเป็นทางการว่า ‘กรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว’
ในด้านศาสนา แม้ว่าชาวล้านช้างจะได้รับนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานผ่านทางจีนมาแต่ครั้งยังอยู่อาณาจักรอ้ายลาวเช่นเดียวกับชาวไทยพวกอื่น ในสมัยของขุนหลวงเม้า ( ลีเมา หรือลิวเมา ก็ว่า ) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๖๒๐ แล้วก็ตาม แต่เมื่อถึงสมัยอาณาจักรล้านช้างนี้ ความเชื่อถือนั้นคงจะได้เลือนรางจางหายไปแล้ว จึงปรากฏว่า ราษฎรทั่วไปนับถือผีสางเทวดาอันเป็นของพื้นเดิมแต่สมัยโบราณ ทำให้ต้องมีการประ ดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่และในคราวนี้เป็นพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่นำ เข้า มาจากอาณาจักรเขมร
เรื่องนำพระพุทธศาสนาเข้าสู่อาณาจักรล้านช้าง มีหลักบานต่างกันเป็น ๒ อย่าง ฝ่ายหนึ่งว่า พระนางแก้วเกงยา มเหสีของพระเจ้าฟ้างุ้มทรงเป็นพุทธศาสนิกชนผู้เคร่ง ครัด ครั้นได้ทรงเห็นเจ้านายและราษฎรชาวล้านช้างนับถือผี พากันล้มช้างม้าวัวควายทำพลีกรรม ก็ทรงสังเวชพระทัย จึงทุลพระสวามีให้นำพระพุทธศาสนาจากัมพูชาเข้าไปประดิษฐาน พระเจ้าฟ้างุ้มก็ทรงส่งทูตไปแจงความประสงค์แก่กัมพูชา พระเจ้าแผ่นดินเขมรจึงได้ส่งพระภิกษุสงฆ์ มีพระมหาปาสมันตเถระ ซึ่งเป็นอาจารย์ของพระเจ้าฟ้างุ้ม และพระมหาเทพลังกาเป็นหัวหน้าพร้อมด้วยนักปราชญ์ ช่าง และคนผู้แวดล้อมเป็นบริวารเป็นจำนวนมาก นำพระพุทธรูปปางห้ามญาติชื่อ “พระปาง” และพระไตรปิฎกกับทั้งศาสนวัตถุอื่นๆ ไปพระราชทานแก่พระเจ้าฟ้างุ้ม
ส่วนหลักฐานอีกฝ่ายหนึ่งว่า เมื่อพระเจ้าฟ้างุ้มครองราชย์แล้วไม่นาน ก็ทรงปรากฏว่าทรงมีพระทัยโหดร้ายทารุณ ความทราบถึงกษัตริย์กัมพูชาผู้เป็นพระสสุระ (พ่อตา) จึงมีรับสั่งให้พระเจ้าฟ้างุ้มไปเฝ้า แล้วพระราชทานให้ปกครองพสกนิกรตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ให้สมาทานศีล ๕ และส่งกลับล้านช้างพร้อมด้วยคณะพระภิกษุสงฆ์ที่กล่าวข้างต้น
สำหรับพระบางนั้น เป็นพระพุทธรูปที่กษัตริย์ลังกาได้ส่งมาถวายแก่พระเจ้าแผ่น ดินเขมร เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเขมรพระราชทานแก่พระเจ้าฟ้างุ้มแล้ว ได้นำไปรักษาไว้ที่เมืองเวียงคำก่อนจนถึง พ.ศ. ๒๐๔๕ จึงอัญเชิญขึ้นไปไว้ที่เมืองเชียงทองคือ เมืองชวาหรือล้านช้าง และต่อมาเมืองเชียงทองหรือล้านช้างก็เปลี่ยนเรียกชื่อตามพระบางนั้นว่า เมืองหลวงพระบาง โดยนัยนี้จึงเห็นได้ว่า การสถาปนาอาณาจักรลาวดำเนินไปพร้อมกับการประดิษฐานพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท โดยมีพระบางเป็นศูนย์กลางที่รวมจิต ใจของชาติ เป็นทั้งสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาและเป็นสมบัติคู่เมือง
รัชกาลพระเจ้าฟ้างุ้มมากด้วยการศึกสงคราม ทำให้ราษฎรลาวซึ่งเป็นคนรักสงบมีนิสัยเรื่อยๆ สบายๆ พากันเบื่อหน่ายฝืนใจจนในที่สุดถึง พ.ศ.๑๙๑๖ อำมาตย์ทั้งหลายก็พร้อมใจกันขับพระองค์จากราชบัลลังก์ แล้วอภิเษกพระราชโอรสชนมายุ ๑๗ พรรษา ขึ้นครองราชย์สมบัติ ทรงพระนามจำนวนชายฉกรรจ์ที่สำรวจได้ใน พ.ศ. ๑๙๑๙ ซึ่งมีอายุ ๓๐๐,๐๐๐ คนว่า “พญาสามแสนไท” ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงไทยแห่งศรีอยุธยา และทรงจัดระเบียบบ้านเมืองตามแบบแผนวิธีการที่ทรงได้รับจากประเทศไทยเป็นอันมาก
ในด้านพระศาสนา ทรงสร้างวัดและโรงเรียนปริยัติธรรมในด้านการค้าขาย ล้าน ช้างก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมสำคัญแห่งหนึ่ง ทรงรักษาไมตรีกับไทยและเวียดนามเป็นอย่างดีรัชกาลนี้ ได้ชื่อว่าเป็นสมัยแห่งการจัดสรรระเบียบบ้านเมือและสร้างความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นมั่นคง หลังจากรัชกาลนี้แล้วอาจักรล้านช้างได้มีความสงบสุขตลอดมาเป็นเวลายาวนาน มีการเดือดร้อนจากรุกรานของบเวียดนามที่เป็นเพื่อนบ้านเป็นเหตุการณ์แทรกบ้างแต่เพียงเล็กน้อย และผ่านไปในช่วงระยะเวลาอันสั้น

กาลล่วงมาจนถึงรัชกาลพระเจ้าโพธิสารราช (พ.ศ. ๒๐๖๓ – ๒๐๙๐ ) กษัตริย์พระองค์นี้ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนผู้เคร่งครัด ได้ทรงพยายามจูงให้ประชาชนเลิกนับถือผีสางเทวดา ไสยศาสตร์การทรงเจ้าของผีต่าง ๆ เพื่อสถาปนาพระพุทธศาสนาที่บริสุทธ์ถึงกับทรงให้รื้อศาลเจ้ากลวง ศาลเจ้าผีเสื้อเมืองทรงเมืองเสียแต่ประเพณีการนับถือผีได้ฝังแน่นในชีวิตจิตใจของประชาชนมาแต่โบราณแล้ว ยากที่ถอนได้ ความเพียนพยายามของพระองค์จึงไม่ประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้พระองค์ได้เสด็จไปประทับ ณ พระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ที่นครเวียงจันทน์ ทำได้ค้าขายกับไทยและเวียดนามสะดวกและได้ผลดียิ่งขึ้น นับว่าทรงเป็นกษัตริย์ลาวองค์แรกที่เสด็จไปประทับที่เมืองนี้
ต่อมาตอนปลายรัชกาล กษัตริย์แห่งล้านนา ณ นครเชียงใหม่สวรรคต ขาดรัชทายาทสายตรงที่จะสืบราชสมบัติ จึงมีผู้อ้างสิทธิในราชสมบัติหลายพวก พระเจ้าโพธิสารราชก็ทรงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์นั้นด้วย ในฐานะที่พระราชมารดาของพระองค์เป็นเจ้าหญิงเชียงใหม่ ทรงยกกองทัพไปปราบผู้อ้างสิทธิอื่น ๆ ได้หมดสิ้น เสร็จแล้วทางอาณาจักรล้านนาก็ได้ส่งคณะทูตมาทูลเชิญพระองค์ให้ไปเสวยราชย์ ณ นคร เชียงใหม่ พระเจ้าโพธิสารจึงโปรดให้โอรส ชื่อ เจ้าเชษฐวังโส ไปครองอาณาจักรล้านนา แต่หลักฐานบางแห่งว่า พระเจ้าโพธิสารมีพระเมหสีเป็นเจ้าหญิงเชียงใหม่ ทางฝ่ายล้านนาจึงส่งทูตมาทูลขอโอรสของพระองค์คือ เจ้าชายเชษฐวังโส ชนมายุ ๑๒ พรรษา ไปครองราชย์ ณ นครเชียงใหม่
ต่อมา พ.ศ. ๒๐๙๐ พระเจ้าโพธิสารราชทรงประสบอุบัติเหตุในการล่าสัตว์เสด็จ สวรรคต เกิดเหตุวุ่นวายเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติ เจ้าชายเชษฐวังโสจึงเสด็จกลับไปจัดเรื่องเมืองล้านช้างให้สงบ และได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ณ อาณาจักรนั้นใน พ.ศ. ๒๐๙๑ ทรงพระนามว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ไม่ยอมเสด็จกลับเชียงใหม่ปล่อยให้เจ้าไทยใหญ่ชื่อ เมกุฏิ ขึ้นครองล้านนาสืบต่อมา
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ทรงเป็นมหาราชองค์ที่ ๒ ของลาว ( องค์แรกคือพระเจ้าฟ้างุ้ม ) ทรงเป็นวีรกษัตริย์ผู้ปรีชาสามารถในการศึกษาสงคราม และเป็นพุทธศาสนู ปถัมภกที่มีศรัทธาแรงกล้า ได้ทรงสร้างวักสำคัญหลายวัด และพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ ทรงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ทำให้มีนักปราชญ์แต่งคัมภีร์ต่าง ๆ และมีวรรณคดีลาวเกิดขึ้นมากมายหลายเรื่อง
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงทรงผูกสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาอย่างแน่นแฟ้น ถึงกับได้มีพระราชสาล์นไปขอพระเทพกษัตรี ราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัย แต่พระเทพกษัตรีถูกกองทัพพม่า ซุ่มแย่งชิงตัวในระหว่างทางและนำไปถวายแก่พระเจ้าหงสาวดี นอกจากนั้น กษัตริย์สองอาณาจักรได้ทรงสร้างเจดีย์ร่วมกัน เรียกว่า ‘พระธาตุศรีสองรัก’ อยู่ในเขตอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีพิธีทำบุญร่วมกันทุกปีในวันเพ็ญเดือนหก คำว่า ‘ศรี’ ในชื่อเจดีย์นั้นหมายถึง ศรีอยุธยา กับ ศรีสัตนาคนหุต
อนึ่ง ในคราวที่พระเจ้าไชยชษฐาธิราชเสด็จจากเชียงใหม่มาครองราชย์ที่เมืองเชียงทองล้านช้างนั้น ได้ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดบุบผาราม เมืองเชียงใหม่พร้อมด้วยพระพุทธรูปสำคัญอื่น ๆ และสิ่งมีค่าต่างๆ มาไว้ที่เมือองหลวงพระบางด้วย ต่อมาพระองค์ย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองเวียงจันทร์ด้วย และได้ทรงสร้างพระธาตุหลวง อันเป็นสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยมของลาวไว้เป็นเกียรติประวัติสืบมา
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงประคับประคองนำราชอาณาจักรของพระองค์ให้พ้นภัยพิบัติ ไปได้จนตลอดรัชกาล แม้ล้านนาไทยจะเสียแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๑๐๑ และกรุงศรีอยุธยาเสียตามไปใน พ.ศ. ๒๑๐๗ แต่อาณาจักรลาวยังเป็นอิสระอยู่ อย่างไรก็ตาม หลัง จากพระองค์สวรรคตใน พ.ศ. ๒๑๑๔ แล้วพอถึง พ.ศ. ๒๑๑๗-๒๑๑๘ พระเจ้าหงสาวดีก็ยกทัพมาตีเอาลาวเป็นประเทศราชได้ และได้ทรงนำเอาโอรสองค์เดียวของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งประสูติในปีที่สวรรคตไปไว้เป็นประกันที่หงสาวดีด้วย ต่อจากนี้ แผ่นดินลาวมีเหตุวุ่นวายด้วยเรื่องราชสมบัติอีกหลายปี จนถึง พ.ศ. ๒๑๓๔ พระเถระเจ้าอาวาสต่าง ๆ จึงได้ประชุมกันลงมติให้ส่งทูตไปอันเชิญเจ้าชายหน่อแก้วโกเมน ซึ่งเป็นตัวประกันอยู่ในราชสำนักพม่ากลับมาครองราชย์ พอดีเวลานั้นพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตแล้ว และพม่ากำลังอ่อนแอลง จึงได้รับความยินยอมด้วยดี เจ้าหน่อแก้วโกเมนขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๑๓๕ และประกาศอิสรภาพ ไม่ขึ้นแก่พม่าต่อไป
ต่อมาไม่นาน แผ่นดินลาวก็มีเหตุเดือดร้อนวุ่นวายภายในเกี่ยวด้วยเรื่องราชสมบัติ จนพระเจ้าสุริยวงศา ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๑๘๐ จึงกลับสงบสุขอีก พระเจ้าสุริยวงศาเป็นกษัตริย์ปรีชาสามารถและเข้มแข็ง นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่สุดของลาว ตลอดรัชกาลอันยาวนานถึง ๕๕ ปี บ้านเมืองสงบเรียบร้อยทั้งภายในและภายนอก วัฒนธรรมรุ่งเรือง มีดนตรี สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม การช่างต่าง ๆ เจริญแพร่หลาย และมีสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี เว้นแต่สงครามพิชิตเชียงขวางใน พ.ศ. ๒๑๙๔ ซึ่งแม้เชียงขวางจะยอมแพ้ แต่ก็เป็นศัตรูกันต่อมาภายหลังเป็นเวลานาน จนตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสไปด้วยกัน

ข. ยุคแตกแยกทรุดโทรมและตั้งต้นใหม่
หลังจากสิ้นราชกาลพระเจ้าสุริยวงศาใน พ.ศ. ๒๒๓๕ แล้วอาณาจักรลาวก็เดือดร้อนวุ่นวายด้วยปัญหา การแย่งชิงสมบัติจนแตกแยกออกไปเป็น ๒ อาณาจักรคือ เมืองหลวงพระบาง กับ เมืองเวียงจันทร์ นอกจากนี้ แคว้นจำปาศักดิ์ซึ่งยังมิได้เป็นดินแดนในอาณาจักรลาวโดยตรง เป็นแต่ตกอยู่ในอำนาจครอบครองเป็นครั้งคราว ก็ได้ตั้งตัวเป็นอิสระด้วย
นักประวัติศาสตร์บางพวกนับแคว้นจำปาศักดิ์อิสระนี้ เข้าอีกกล่าวว่า ลาวแตก แยกเป็น ๓ อาณาจักร ยิ่งกว่านั้นถ้าถือเอาแผ่นดินลาวปัจจุบันเป็นหลักก็ยังมีราชอาณา จักรเล็ก ๆ อีกแห่งหนึ่งซึ่งในเวลานั้นยังไม่เป็นดินแดนของลาว คือ แคว้น ตรันนินห์ ของพวกพวน มีเมืองเชียงขวางเป็นราชธานี บางทีเรียกแคว้นเชียงขวางบ้าง เมืองพวนบ้าง เมืองพวกนี้บางคราวขึ้นกับเวียงจันทร์ บางคราวขึ้นกับหลวงพระบาง บางคราวขึ้น กับญวน บางคราวขึ้นกับไทย ญวน และหลวงพระบางพร้อมกัน จนในที่สุด ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เมื่อลาวเป็นเอกราชแล้วจึงรวมอยู่ในราชอาณาจักรลาว
อาณาจักรทั้งสอง คือหลวงพระบางกับเวียงจันทร์ ต่างก็ระแวงกันและคอยจ้องหาโอกาสแย่งชิงอำนาจกัน เป็นเหตุให้ยืมมือต่างประเทศมากำจัดกัน เป็นการชักศึกเข้าบ้าน เช่น ฝ่ายหนึ่งเข้ากับพม่า อีกฝ่ายหนึ่งเข้ากับไทย หรือฝ่ายหนึ่งเข้ากับไทย อีกฝ่ายหนึ่งเข้ากับญวน เป็นต้น จนในที่สุดเมื่อไทยสมัยพระเจ้าตากสิน ซึ่งเป็นพันธมิตรกับหลวงพระบาง กู้เอกราชจากพม่าได้แล้ว ก็ยกทัพมาตีเวียงจันทร์ซึ่งเป็นพันธมิตรกับพม่า เข้ายึดครองได้ใน พ.ศ. ๒๓๒๑ และได้นำเอาพระแก้วมรกตไปยังอาณาจักรไทยด้วย อาณาจักรเวียงจันทร์สลายตัวลงเป็นดินแดนของไทยใน พ.ศ. ๒๓๗๑ ส่วนอาณา จักรหลวงพระบางซึ่งเป็นเมืองออกของไทยได้ส่งทูตไปอ่อนน้อมและ มอบบรรณาการแก่เวียดนามใน พ.ศ. ๒๓๗๔ กลายเป็นข้ออ้างของฝรั่งเศสผู้เข้ายึดครองเวียดนามในสมัยต่อมา ที่จะเข้าครอบครองลาวต่อไปด้วย อาณาจักรลาวได้ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสโดยลำดับ เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๓๖ จนหมดสิ้นใน พ.ศ. ๒๔๔๗ ลาวถูกฝรั่งเศสครอบครองอยู่ ๔๕ ปี จึงได้เอกราชกลับคืนอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๙๒ มีชื่อเป็นทางการว่า ‘พระราชอาณาจักรลาว’


นาลันทาสมัยหลังพุทธกาล
หลังจากที่ พระบรมศาสดา ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว นาลันทา ก็เสื่อมโทรมลง ทั้งความเจริญทางบ้านเมือง และทั้งนิกาย ลัทธิศาสนาต่างๆ ทั้งนี้คงจะเนื่อง มาจาก มีทุพภิกขภัยเกิดขึ้น. แม้ในขณะที่ พระพุทธองค์ ยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ ก็ยังเคยมี ทุพภิกขภัยเกิดขึ้น เป็นครั้งคราว และสภาวะ แห่งทุพภิกขภัยนี้ ก็ไม่ทราบว่า เป็น อยู่นานเท่าใด. ครั้นมาถึง สมัยพระเจ้าอโศก ได้โปรดให้สร้างวิหารขึ้น หลังหนึ่ง ในนาลันทานี้ และต่อมา พระเจ้าปุรวรมา, ผู้สืบราชสันตติวงศ์ องค์สุดท้าย ของพระเจ้าอโศกมหาราช ก็ได้โปรดเกล้าให้สร้าง พระพุทธรูป หล่อด้วยทองแดง องค์หนึ่ง สูงถึง ๘๐ ฟุต. ครั้นถึงสมัย พระเจ้าสกราทิตยะ ราชาครองนครนาลันทา ได้ทรงสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ในสวนมะม่วง. และราชาที่สืบต่อมาก็มี พระเจ้าพุทธคุปตะ พระเจ้าตถาคตคุปตะ พระเจ้าพาลาทิยะ พระวัชระ และราชาอีกองค์หนึ่ง ที่ไม่ปรากฏพระนาม ในอินเดียสมัยกลาง กษัตริย์เหล่านี้ แต่ละพระองค์ ได้สร้างวัดขึ้น องค์ละหนึ่งวัด รวมเป็น ๖ วัด วัดทั้งหกนี้ ประกอบกันขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยนาลันทา ในเวลาต่อไป.
มหาวิทยาลัยนาลันทา

มหาวิทยาลัยนาลันทา เริ่มสร้างขึ้นครั้งแรก ตั้งแต่สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์โมริยะ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 3. และมีการสร้าง ติดต่อกันเรื่อยมา อีกหลายยุคหลายสมัย โดยประสงค์ จะให้เป็นสถานศึกษา แก่พระภิกษุสงฆ์ ในพระพุทธ ศาสนา. ต่อมา ก็มีการก่อสร้างส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมา อีกมากมาย ตลอดระยะเวลา อันยาวไกล นับตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดิน ในราชวงศ์คุปตะ, ราชวงศ์ปาละ และพระเจ้าแผ่นดินแห่งชวา สุมาตรา อินโดนีเซีย เป็นต้น. ราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ นาคารชุน คณาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ แห่งลัทธินิกายมหายาน ได้เดินทางไป ยังปูชนียสถานสำคัญ ๆ หลายแห่ง พร้อมกับท่าน อารยเทวะ ผู้เป็นศิษย์ แล้วท่านก็ได้เดินทาง มาถึงนาลันทา.ภายในระยะเวลาเพียง ๑-๒ ศตวรรษ จากเวลา ที่ท่านนาคารชุน เดินทางมาถึงนาลันทา ต่อจากนั้น นาลันทา ก็ได้กลายเป็นศูนย์กลาง แห่ง พระพุทธศาสนา นิกายมหายาน ที่สำคัญยิ่ง ขณะนั้น มหาวิทยาลัยนาลันทา กำลังเจริญ รุ่งเรืองเต็มที่. ต่อมา ในราวพุทธศตวรรษที่ ๙ ได้เกิดคณาจารย์ที่สำคัญ ของนิกายมหายานขึ้น อีกท่านหนึ่ง นามว่า “อสังคะ” ท่านผู้นี้ เป็นผู้ประกาศหลักธรรม “ลัทธิโยคาจาร” ท่านได้ใช้ช่วงเวลา 12 ปีสุดท้าย แห่งชีวิตของท่าน ที่นาลันทาแห่งนี้ เมื่อพระภิกษุอสังคะ ได้มรณภาพลง น้องชายของท่าน มีนามว่า “ภิกษุวสุพันธ์” ผู้เป็นนักปราชญ์ คนสำคัญ แห่งลัทธิโยคาจาร ได้เป็นประธานสงฆ์ บริหารมหาวิทยาลัยนาลันทา สืบต่อมา. ในสมัยคุปตะ ซึ่งจัดเป็นยุคทอง แห่งประวัติศาสตร์ของอินเดีย ในยุคนี้ มีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับ ชีวิต วัฒนธรรม และแนวความคิด ทางศาสนา ของอินเดีย ได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง. หลักฐานจากศิลาจารึก ตลอดจนหลักฐาน ทางโบราณ คดี ได้เปิดเผย ให้เห็นถึง ความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ของพระพุทธศาสนา ในยุคนี้ แม้ว่าพระพุทธศาสนา จะไม่ได้เป็น ศาสนาทางราชการ ตลอดทั่วทุกแคว้น ในมัชฌิมประเทศ.มหาวิทยาลัยสงฆ์นาลันทาสมัยเฮียงจัง ในสมัยของหลวงจีนเฮียงจัง ราวพุทธศตวรรษที่๑๒-๑๓ นั้น, พระเจ้าหรรษวรรธนะ ทรงเป็นองค์อุปถัมภกที่สำคัญยิ่ง ของพระพุทธศาสนา พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุง มหาวิทยาลัยนาลันทา ด้วยศรัทธาอันแก่กล้า, ทรงอุทิศส่วย จากหมู่บ้าน ๑๐๐หมู่บ้าน ให้เป็นปัจจัย บำรุงมหาวิทยาลัย และมีบัญชาให้ หัวหน้าครอบครัว ๒๐๐ครอบครัว บำรุงพระภิกษุ ที่อยู่ในมหาวิทยาลัย ด้วยภัตตาหาร เช่น ข้าว เนย และนม เป็นประจำ, โดยพระภิกษุเหล่านั้น ไม่ต้องออกไป บิณฑบาตข้างนอก. นักศึกษาแห่งนาลันทา ไม่ต้องมีความกังวล เกี่ยวกับเรื่องปัจจัยสี่นี้เลย ฉะนั้น จึงสามารถอุทิศเวลาทั้งหมด ให้แก่การศึกษา ได้เต็มที่ พระเจ้าหรรษวรรธนะ ทรงเคารพยกย่องพระภิกษุ แห่งมหาวิทยาลัย นาลันทา เป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงโปรดให้ พระนักศึกษาแห่งนาลันทา ประมาณ ๑,๐๐๐ รูป เข้าร่วมรัชสภา ที่กะเนาซ์ ด้วย. หลวงจีนเฮียงจัง ได้กล่าวถึง มหาวิทยาลัยนาลันทา ไว้อย่างชัดเจน แสดงถึงความใหญ่โต และมาตรฐานการศึกษา อันสูงกว่า สถาบันการศึกษาอื่น ๆ ทั้งหมด ที่มีอยู่ในตะวันออกโบราณ. ในสมัยนั้น มหาวิทยาลัยนาลันทา เจริญรุ่งเรืองมาก เป็นมหาวิทยาลัย ที่ใหญ่ที่สุด เก่าแก่ที่สุด มีชื่อเสียงมากที่สุด มีห้องประชุมขนาดใหญ่ ซึ่งบรรจุผู้ฟัง ได้มากกว่าพันคนขึ้นไป มีถึง ๘ ห้อง, มีห้องเรียนกว่า ๓๐๐ ห้อง, มีห้องพระคัมภีร์ขนาดใหญ่ และมีหอพักนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยพร้อม โดยมีโรงครัว ยุ้งฉาง สำหรับการหุงหาอาหาร เลี้ยงพระนักศึกษา เหล่านั้นด้วย ในมหาวิทยาลัยนาลันทาทั้งหมด มีที่พักสำหรับนักศึกษาถึง ๑๐,๐๐๐ คน พร้อมด้วย อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ อีกประมาณ ๑,๕๐๐ คน มีกฎเกณฑ์เข้มงวดมาก นักศึกษาผู้เข้าใหม่ กว่าจะถูกรับเข้าสถาบันได้ จะต้องผ่านการทดสอบมากมาย. พระนักศึกษาแห่งนาลันทา ได้รับการยกย่องอย่างสูง จากทั่วทุกแห่ง พระภิกษุที่เรียนอยู่นี้ มีพระเจ้าแผ่นดิน เป็นองค์อุปถัมภ์ การเป็นอยู่ทุกอย่าง ให้เปล่าหมด ทั้งนี้เพื่อประสงค์ที่จะให้ สืบทอดพระพุทธศาสนา ให้มีหลักธรรม ที่ลึกซึ้งและถูกต้อง ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ซึ่งก็ปรากฏว่า มีพระภิกษุจากต่างแดน ได้เดินทาง เข้ามาเรียนที่นี่เช่นกัน เช่น หลวงจีนเฮียง
จัง (พระถังซัมจั๋ง) เป็นต้น.
ในระยะก่อน ที่หลวงจีนเฮียงจัง จะได้เข้ามาศึกษา ในมหาวิทยาลัยนาลันทา เล็กน้อย ท่านอาจาริยะ ธัมมปาละ ได้เป็นประมุขสงฆ์ หลังจากท่านองค์นี้แล้ว ศิษย์ของท่านชื่อ อาจาริยะ ศีลภัทระ ผู้เป็นโอรส ของกษัตริย์แห่งสมตาฎ (แคว้นเบงกอลทางใต้)
เป็นอธิบดีสงฆ์ต่อมา ซึ่งท่านองค์นี้ เป็นอาจารย์สอน พุทธปรัชญา ให้แก่หลวงจีนเฮียงจัง เป็นเวลา ๕ ปี วิชาที่หลวงจีนเฮียงจัง ได้ศึกษา ในมหาวิทยาลัยนาลันทา ได้แก่ คัมภีร์พระพุทธศาสนา ทั้งหินยาน และมหายาน, เหตุวิทยา (Logic), ศัพท์วิทยา (Gramma), จิกิตสาวิทยา (Medical Sciences), พระเวทย์ทั้งหลาย และ สางขยศาสตร์ เป็นต้น.
ในการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยนาลันทานั้น มีการสอนวิชาต่าง ๆมากมาย เช่น พุทธปรัชญา ไวยากรณ์ วรรณคดี แพทยศาสตร์ และมีวิชาบังคับ พระไตรปิฎก เป็นต้น หลังจากสิ้นรัชสมัยของ พระเจ้าหรรษวรรธนะแล้ว พระพุทธศาสนา ในมัชฌิมประเทศ เริ่มเสื่อมลง ๆ หลวงจีนเฮียงจังได้เล่าว่า ท่านได้เห็นศูนย์กลาง ทางพระพุทธ ศาสนา หลายแห่ง ตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม แม้ในนครสาวัตถี เมืองปยาคะ และที่อื่นๆ วัดในทางพระพุทธศาสนา ได้ลดจำนวนน้อยลง แต่ในขณะเดียวกัน เทวาลัย และสถานบูชา ของพวกต่างศาสนา กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้น, มีแต่ในแคว้นมคธ ภายใต้การอุปถัมภ์ บำรุงของกษัตริย์ ราชวงศ์ปาละ แห่งเบงกอล และพิหารเท่านั้น ที่พระพุทธศาสนา ได้เจริญรุ่งเรือง ต่อมาอีก ๒-๓ ศตวรรษ. มหาวิทยาลัยนาลันทาในสมัยปาละจนมาถึงรัชสมัย ของพระเจ้าเทวปาละ (พ.ศ.๑๓๕๘-๑๓๙๗) พาลปุตรเทวะ แห่งสุมาตรา ได้สร้างวิหารขึ้นหลังหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา และพาลปุตรเทวะ ได้ขอร้องให้กษัตริย์เทวปาละ ยกผลประโยชน์ ๕ ตำบล ในแคว้นมคธ เพื่อการบำรุงภิกษุ ที่ได้ทำการคัดลอกคัมภีร์ พระพุทธศาสนาให้ และพระเจ้าเทวปาละ ยังได้ทรงแต่งตั้ง ภิกษุรูปหนึ่งชื่อ พระวีรเทวะ ผู้เป็นบุตรของ อินทรคุปตะ แห่งรคาหาร (ขณะนี้ อยู่ในปากีสถานตะวันตก) เป็นผู้บริหาร นาลันทามหาวิหาร นอกจากนี้ เมื่อพระเจ้าเทวปาละ ครองราชย์ได้ ๓๕ ปี ได้สร้างรูปเจ้าแม่ตารา และมีการจารึกอักษร ที่ได้กล่าวถึงชื่อ มัญชุศรีเทวะเมื่อกษัตริย์โคปาละที่ ๒ ครองราชย์ในปีแรกๆ (พ.ศ.๑๔๗๘-๑๕๓๕) ได้ทรงสร้างรูปวาคีศวรี ให้เป็นเทพเจ้า แห่งความรู้ ของชาวพุทธ แล้วนำไปประดิษฐาน ไว้ที่นาลันทาในปีที่ ๖ แห่งการครองราชย์ ของกษัตริย์มปาละที่ ๑ (พ.ศ. ๑๕๓๕-๑๕๘๓) ได้มีการซ่อมแซม สถาบันนาลันทา ซึ่งได้ถูกไฟไหม้ นอกจากนี้ ยังได้มีนักศึกษา นาลันทาผู้หนึ่ง ชื่อ กัลยาณมิตร จินตามณี ได้ทำการคัดลอกคัมภีร์ อัศฏสาหัสริกา ส่วนคัมภีร์ ปรัชญาปารมิตา คัมภีร์นี้ได้ถูกคัดลอก ๒ ครั้ง ที่นาลันทา คืออีกครั้งในสมัยของรามปาละ ด้วยสมัยจักรพรรดิ แห่งวงศ์ปาละ ได้ปกครองอินเดียตะวันออก ซึ่งรวมดินแดน ของมคธด้วย เป็นเวลาประมาณ ๔๐๐ ปี (จากพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๘) กษัตริย์เกือบทุกพระองค์ ได้เป็นผู้อุปถัมภ์ พระพุทธศาสนา อย่างเข้มแข็ง ได้ถวายความอุปการะ แก่สถาบันนาลันทา ด้วยดีตลอดมา
การล่มสลายของมหาวิทยาลัยนาลันทา
มหาวิทยาลัยนาลันทานี้ เจริญอยู่ได้ประมาณ ๘๐๐ปี จึงเริ่มเสื่อมสลายลง แม้ว่า จะกำหนดระยะเวลาที่นาลันทาได้เสื่อมสลายลงไป ให้แน่นอนไม่ได้ ก็ตาม ก็ยังมีหลักฐาน พอที่จะกล่าวว่า ความร่วงโรย ของสถาบันนาลันทานั้น ได้เกิดขึ้น พร้อมกับ การที่พระพุทธศาสนา เริ่มเสื่อมสูญ ไปจากอินเดีย หลวงจีนเฮียงจัง ได้เห็นลักษณะ ที่จะก่อ ให้เกิดความเสื่อม มีอยู่ทั่วอินเดีย แม้ว่าในครั้งนั้นนาลันทายังเป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธ ศาสนาที่กำลังเจริญรุ่งเรืองก็ตาม การที่นาลันทา ถูกไฟไหม้ ก่อให้เกิดความเสียหาย อย่างมากมาย หลวงจีนเฮียงจัง สามารถมองเห็น ความวิบัติ ที่จะมีแก่สถาบันนาลันทาแล้ว หลวงจีนเฮียงจังเล่าว่า เมื่อท่านมาถึงนาลันทา มีพระภิกษุ อยู่ในนาลันทาถึง ๑๐,๐๐๐ รูป แต่ต่อมา พอหลวงจีนอี้จิง มาถึงอินเดีย หลังจากท่านไม่กี่ปี ก็ได้พบว่า มีพระภิกษุในนาลันทาเพียง ๓,๐๐๐ รูป เท่านั้น ความเสื่อมโทรมลง ของพระพุทธศาสนา ทั้งในนิกายเถรวาท และมหายาน ยิ่งมากขึ้นไปอีก เมื่อได้มีการเกิดขึ้น ของนิกายตันตระ ซึ่งในนิกายนี้ ได้เอาหลักคำสอนมาจาก การผสมผสาน ของคำสอนในลัทธิโยคะ กับวิธีการบูชาบวงสรวง แบบต่างๆ หลายแบบ พระพุทธศาสนา แบบดั่งเดิม ได้ถูกกลืนหายไป ในลัทธิลึกลับ ที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ความเสื่อมสลาย ของพระพุทธศาสนา ไปจากอินเดียนี้ อาจจะเกิดจาก นักปรัชญาผู้ยิ่ง ใหญ่ ของศาสนาพราหมณ์ เช่นท่านกุมาริละ และ ศังกราจารย์ ที่ได้ทำให้ วงการพระพุทธศาสนา สั่นสะเทือน แต่เหตุการณ์ ที่ทำลาย มหาวิทยาลัยนาลันทา อย่างรุนแรง คือการที่ พวกมุสลิมบุกรุก เข้ามาฆ่าและทำลาย มินฮัช (Minhaj) นักประวัติศาสตร์ มุสลิมได้เล่าถึง โมฮัมเม็ด บุขเตียร์ (Mohammed Bukhtiar) ทำลายเมือง ๆ หนึ่ง ในแคว้นพิหารตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งวิชาการ ของพระพุทธศาสนา แห่งหนึ่ง เมืองนี้ก็คือนาลันทา นั่นเอง ข้อมูลบางแหล่งว่า พวกมุสลิมซึ่งมีแม่ทัพชื่อ บักตยาร์ ขิลจิ พร้อมทหาร ๒๐๐ คน บุกเข้ามาฆ่าพระสงฆ์ องค์แล้วองค์เล่า แต่พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น ก็ยังคงนั่งกันเฉย ไม่ลุกหนี ไม่ต่อสู้ บางท่านเล่าถึง การบุกโจมตีนาลันทาว่า “ป้อมปราการที่นี่ ช่างน่าแปลก นักรบทุกคน ล้วนแต่นุ่งห่มสีเหลือง โกนหัวโล้น ไม่มีอาวุธในมือ นั่งกันอยู่เป็นแถวๆ เมื่อเราบุกเข้าไปถึง ก็ไม่ลุกหนี ไม่ต่อสู้ เมื่อเราเอามีดฟันคอขาด คนแล้วคนเล่า ก็ยังนั่งกันอยู่เฉยๆ ไม่ร้องขอชีวิต ไม่โอดครวญ” ตารนาถกล่าวว่า มุสลิมได้สร้างความพินาศ ย่อยยับ ให้แก่นาลันทา, โดยฆ่าพระภิกษุ อย่างเหี้ยมเกรียม บุกรุกทำลาย จุดไฟเผา จนนาลันทา กลายสภาพ เป็นเถ้าถ่านไป ในที่สุด พวกมุสลิม ยังได้เผาทำลาย ตำรับตำราต่าง ๆ ในทางพระพุทธศาสนา ในมหาวิทยาลัยนาลันทา จนหมดสิ้น กล่าวกันว่า เผาตำรับตำราอยู่ถึง ๓ เดือน จึงได้เผาหมด นอกจากนี้มุสลิม ยังเอาไฟคอกพระภิกษุ โดยหวังจะให้ตายให้หมด แต่ก็ยังมี พระส่วนน้อยที่หนีไปได้ โดยหนีเข้าไปอยู่ ในธิเบตบ้าง เนปาลบ้าง เมื่อได้ฆ่าและเผาแล้ว พวกมุสลิม ยังได้ขนเอาทรัพย์สมบัติ อันมหาศาลไปด้วย มุสลิมนั้น หวังจะทำลาย พระพุทธศาสนา ให้หมดสิ้น ไปจากอินเดีย ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยนาลันทา อันเป็นศูนย์กลาง แห่งพระพุทธศาสนา อันเจริญรุ่งเรือง มานานแสนนาน ก็ถึงจุดจบ ด้วยน้ำมือของมุสลิม และด้วยการปฏิรูปของศาสนาพราหมณ์.







เหตุที่พระพุทธศาสนาอ่อนแอเสื่อมจากอินเดีย
การศึกษาเรื่องนี้ ยังมีหลักฐานไม่ชัดแจ้งสมบูรณ์ แต่เท่าที่ปราชญ์สันนิษฐานกันไว้ พอประมวลได้ดังนี้
๑. คณะสงฆ์อ่อนแอเสื่อมโทรมลง
พระสงฆ์แต่เดิมดำรงมั่นในศาสนปฏิบัติ มีศีลาจาวัตร รักษาระเบียบวินัย มีความเสียสละ เที่ยวจาริกไปสั่งสอนประชาชนบำเพ็ญศาสนกิจเพื่อประโยชน์แก่พหูชน คนจึงเลื่อมใสศรัทธาในพระศาสนา พระมหากษัตริย์ ขุนนาง เศรษฐี คหบดี พากันถวายความอุปถัมภ์บำรุง สร้างวัดวาอารามใหญ่โต ที่ถึงกลับกลายเป็นมหาวิทยาลัยก็มี พระสงฆ์มีความเป็นอยู่สุขสบาย ตั้งใจศึกษาปฏิบัติและอบรมสั่งสอนประชาชน ไม่ละเลยทอดทิ้งหน้าที่อันถูกต้องต่อพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ พระศาสนาก็รุ่งเรือง แต่ต่อมาเพราะชีวิตความเป็นอยู่ที่ได้รับการบำรุงสุขสบายนั้น ก็ติดและลุ่มหลงลืมหน้าที่ต่อประชาชน เป็นเหตุให้
- ติดถิ่นที่เพลิดเพลินในลาภสักการะและความสุขสบายนึกถึงแต่เรื่องของตนเอง และปัจจัยเครื่องอาศัยของตนเองทอดทิ้งหน้าที่ต่อประชาชน
- วุ่นวายอยู่กับพิธีกรรมและงานฉลองอันสนุกสนานต่าง ๆ จนความเข้าใจเรื่องบุญกุศลแคบลงเป็นเรื่องรับเข้าหรือเอาฝ่ายเดียว
- ศึกษาเล่าเรียนลึกซึ้งลงไปแล้ว มัวหลงเพลินกับการถกเถียงปัญหาทางปรัชญาประเภท อันตคาหิกทิฏฐิ จนลืมศาสนกิจสามัญในระหว่างพุทธบริษัทด้วยกันเอง
- มีความประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนลง เพราะเพลิดเพลินในความสุขสบาย และแตกสามัคคีแยกเป็นพวกเป็นนิกาย เพราะถือรั้นรังเกียจกันตกลงกันไม่ได้
- เห็นแกความง่าย ตามใจตนเอง ตามใจคน ปล่อยให้เรื่องไสยศาสตร์เรื่องลึกลับอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ พอกพูนมากขึ้น ตนเองก็เพลิดเพลิน แทนที่จะมีเหตุผลยิ่งขึ้น เข้มแข็ง มีปัญญาและพึ่งตนได้มากขึ้น ก็กลับอ่อนแอต้องคอยหวังพึ่งปัจจัยภายนอกมากยิ่งขึ้น และทำให้พระพุทธศาสนามรสภาพคล้ายคลึงกับศาสนาอื่น ๆ มากมาย เช่น ที่แปรรูปไปเป็น ตันตระ แบบเสื่อมโทรม จนเหมือนกับตันตระของฮินดู และหมดลักษณะพิเศษของตนเอง
๒. ศาสนาฮินดูต่อต้านบีบคั้น
คำสอนของพระพุทธศาสนาขัดแย้งและทำลายความเชื่อถือเดิมในศาสนาพราหมณ์มากมายหลายอย่าง เป็นเหตุให้ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูในสมัยต่อมา พยายามหาทางลิดรอนพระพุทธศาสนาโดยวิธีต่าง ๆ ข้อที่ควรศึกษาในเรื่องนี้มีดังนี้
- พระพุทธศาสนาสอนว่าทุกคนมีความเสมอภาค ควรมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกัน ไม่จำกัด วรรณะ และให้ทุกคนศึกษาเล่าเรียนในพระธรรมวินัยเหมือนกันหมด คำสอนนี้กระทบกระเทือนฐานะของพราหมณ์ทั้งหลาย ซึ่งถือว่าตนเป็นวรรณะสูงสุด มีสิทธิพิเศษต่าง ๆ และเคยผูกขาดการศึกษาไว้โดยปกติพราหมณ์เป็นคนชั้นสูง มีอำนาจและอิทธิพลมาก เช่น เป็นปุโรหิตของพระราชา เป็นต้น แต่พระพุทธศาสนาแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป ตราบใดที่ประชาชนยังศรัทธามั่นคง พระสงฆ์ยังเป็นที่พึ่งของประชาชนและทำหน้าที่ต่อประชาชนอย่างถูกต้อง พวกพราหมณ์ก็ไม่กล้าทำอันตราย หรือทำกิจก็ไม่สำเร็จยิ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์อยู่ด้วย พระพุทธศาสนาก็ยิ่งมั่นคง จะสังเกตเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ที่เป็นพุทธมามกะทุกพระองค์ทรงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา อุปถัมภ์ทุกๆ ศาสน เช่น พระเจ้าอโศก กนิษกะ หรรษวรรธนะ เป็นต้น แต่พราหมณ์จะไม่พอใจในการอุปถัมภ์พุทธศาสนา เช่น ปุษยมิตร ทำลายวงศ์กษัตริย์พุทธขึ้นครองราชย์ แล้วทำการพุทธศาสนา พวกพราหมณ์ข้าราชการของพระเจ้าหรรษะวรรธนะ ริษยาการทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ถึงกับวางแผนปลงพระชนม์ เป็นต้น ในสมัยที่พราหมณ์ขึ้นเป็นกษัตริย์แม้จะไม่กล้ากำจัดพระพุทธศาสนา แต่ก็ทำให้พระพุทธศาสนาต้องยอมประนีประนอมคำสอนฮินดู จนกลายเป็นเหมือนกันและถูกกลืนไปในที่สุด
- พวกพราหมณ์ใช้ศาลศาสนาฮินดูเป็นหลักของลัทธิชาตินิยม โดยผนวกความเป็นคนอินเดียเข้ามากับความเป็นฮินดู ซึ่งจะสังเกตเห็นว่ากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดียเป็นพุทธมามกะ และมักจะเป็นเชื้อสายชนต่างชาติ ที่เห็นชัดเจนคือ พระเจ้ากนิษกะทรงเป็นชนเชื้อสายมงโกลในเผ่ากุษาณ ชาวอินเดียที่จะกำจัดราชวงศ์กุษาณในสมัยต่อมา ใช้ลัทธิชาตินิยมเป็นเครื่องรวมกำลังและการที่กษัตริย์วงศ์นี้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า พระพุทธศาสนาจึงถูกเพ่งเล็งในฐานะศาสนาของคนต่างชาติด้วย แม้ในเรื่องนี้พระเจ้าอโศกมหาราชก็เช่นเดียวกัน มีปราชญ์สันนิษฐานว่า เรื่องนี้พระเจ้าอโศกมหราชก็เช่นเดียวกัน มีปราชญ์สันนิษฐานว่า พระองค์มีพระมารดาเป็นชนชาติกรีก พวกพราหมณ์ได้พยายามกำจัดวงศ์นี้พร้อมทั้งพระพุทธศาสนา พระเจ้าอโศกมหาราชแม้จะเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ไม่ปรากฏเกียรติคุณในประวัติศาสตร์ของชาวฮินดูเลย ต่อเมื่อชาวยุโรปมาขุดค้นศึกษา พระนามของพระเจ้าอโศกจึงปรากฏขึ้นมา และชาวอินเดียเองพยายามยอมรับ นอกจากนี้ แม้พระพุทธเจ้าเองก็มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะทรงเป็นชนเผ่ามงโกล ซึ่งย่อมไม่เป็นที่พึงพอใจของพราหมณ์
- ปราชญ์ชาวฮินดูพยายามนำเอาหลักธรรม ในพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงหลักธรรมของตนเองให้ออกมารูปใหม่บ้าง นำไปทำตามอย่างบ้าง เพื่อ ให้มีกำลังเทียบเคียงกันได้ และให้ดูคล้ายคลึงกัน กลืนจนไม่จำว่าเป็นจะต้องมีพระพุทธศาสนาอยู่ต่างหาก และเมื่อฝ่ายพุทธศาสนาอ่อนแอก็กลืนได้ง่าย เช่น ศังกราจารย์ นำหลักธรรมในพุทธปรัชญาไปแปลงรูปเป็นปรัชญา เวทานตะของตน และสร้างวัดฮินดู ตั้งคณะนักบวชสันยาสีเลียนแบบคณะสงฆ์ เป็นต้น แม้พระพุทธเจ้าเอง ก็กลายเป็นอวตาลของพระนารายณ์ไป

๓. ชนชาติมัสลิมเข้ารุกรานและทำลาย

ในระยะที่คณะสงฆ์กำลังอ่อนแอลงนั้น ก็พอดีกองทัพชนชาติอาหรับและเตอร์กเข้ามารุกรานเป็นระลอก ๆ และทำลายพระพุทธศาสนาลงจนหมด เช่น ทำลายมหาวิทยาลัยวลภีในราว พ.ศ. ๑๓๕๐-๑๔๐๐ และทำลายหมดทุกแห่งใน พ.ศ.๑๗๐๐ เป็นต้นโดยวิธี
- ฆ่าพระสงฆ์ เช่นนาลันทา นักประวัติศาสตร์มุสลิมเองบันทึกไว้ว่าพระถูกฆ่าประมาณหมื่นรูป คือ ไม่ให้เหลือทุกแห่งเลย
- ทำลายสถาบันและสิ่งก่อสร้างโดยเผาผลาญวัดวาอารามและมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทุกแห่ง บางแห่งแม้แต่ซากก็ไม่ให้เหลือ
- เผาคัมภีร์และตำรับตำราพระพุทธศาสนา เช่น ที่หอสมุดของนาลันทา เผาอยู่แรมเดือน
การทำลายครั้งนี้ทำให้คณะสงฆ์สลายตัว และตั้งไม่ติดอีกเลย
ระบบของพระพุทธศาสนานั้น ดำรงอยู่ในรูปสถาบัน ซึ่งปันเป็นพุทธบริษัท ๒ ฝ่าย ปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละฝ่ายต่อกันโดยฝ่ายพระสงฆ์เป็นผู้นำในทางจิตใจ มีความเป็นอยู่และที่อยู่ต่างหาก ชัดเจน กำจัดได้ง่าย เมื่อหมดคณะสงฆ์ หมดผู้นำ พุทธศาสนิกชน ก็ถูกบังคับบ้าง ถูกชักจูงบ้าง กลายเป็นมุสลิมหรืออินดูไป ฝ่ายฮินดูถึงจะถูกกำจัดพร้อมกัน แต่เพราะนักบวชฮินดูมีหลายแบบ บางพวกอยู่บ้านมีครอบครัว มีความเป็นอยู่ไม่ต่างจากคนทั่วไป ก็เหลือรอดอยู่ได้ง่าย ขณะนั้นหลักการทั่วไปของพระพุทธศาสนากับฮินดู คล้ายคลึงกัน หรือผสมผสานกันมากแล้ว เมื่อฝ่ายฮินดูเหลืออยู่ ก็ชักไปเข้าฮินดูโดยง่าย ไม่มีใครขัดขวาง วัดพุทธศาสนาที่หลงเหลืออยู่ก็ถูกพราหมณ์เข้าครองกลาย เป็นวัดฮินดู ชาวพุทธที่เหลือก็ถูกกลืนช้า ๆ เข้าสู่สังคมแห่งวรรณะของฮินดู
ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้สูญสิ้นจากอินเดีย เพราะสิ่งที่พระพุทธศาสนาสร้างขึ้นแล้วในประเทศอินเดีย ก็ยังอยู่ในประเทศอินเดีย ในรูปศิลปะ โบราณคดี วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนในด้านหลักธรรมก็เป็นเครื่องปรับปรุงขัดเกลา และเป็นแบบอย่างที่ทำให้ศาสนาฮินดูซึ่งเจริญ มาถึงปัจจุบัน กลายรูปไปในทางที่ประณีตขึ้น เช่น เลิกบูชายัญ มีหลักศีลธรรมเด่นชัดขึ้น มีหลักปรัชญาที่ลึกซึ้งขึ้นอยู่ด้วยวิธีดึงเอามาจากพระพุทธศาสนาเท่าที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ดังนี้ เป็นต้น






บรรณานุกรม

ธรรมปิฎก,(ประยุทธ์ ปยุตฺโต),พระ,พระพุทธศาสนาในอาเซีย,พิมพ์ครั้งที่ ๑, ธรรมสภา
การพิมพ์, กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐
เสถียร โพธินันทะ,ภูมิศาสตร์พระพุทธศาสนา,บรรณาคาร การพิมพ์,กรุงเทพฯ,ฉบับ
พิมพ์ พ.ศ.๒๕๑๕
เทพดิลก(ระแบบ ฐิตญาโณ),พระ,พระธรรมวินัย,พิมพ์ครั้งที่ ๒,มหามกุฏ การพิมพ์
,กรุงเทพฯ ๒๕๔๓
เสถียร โพธินันทะ,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,บรรณาคาร การพิมพ์,กรุงเทพฯ,ฉบับ
พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๒๒
www.google.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: